7 เคล็ดลับการถ่ายอาหารสำหรับคนชอบเที่ยว
เชื่อได้เลยว่าเมื่อเราไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ นอกจากรูปภาพของวิวสวยๆแล้ว อีกหนึ่งภาพที่จะช่างภาพทุกคนอยากจะถ่าย นั่นก็คือภาพอาหารสวยๆ ชวนน้ำลายไหล จากร้านอาหารเด็ดๆของแต่ละท้องถิ่นนั่นเอง แต่ในเมื่อเราไปท่องเที่ยว ก็คงจะไม่ได้พกอะไรมากไปกว่ากล้องตัวเก่งที่อยู่ในกระเป๋าสะพายข้างแน่ๆ ไฟแฟลชตัวใหญ่ๆนั่นลืมไปได้เลย แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ ให้เราได้ภาพอาหารสวยๆอย่างที่เราต้องการ วันนี้ผมมี 7 เคล็ดลับที่จะทำให้ การถ่ายอาหารนอกสตูดิโอของคุณดูดีขึ้นอย่างแน่นอน
1. ถ่ายก่อนกิน
ไม่มีอะไรดูดีและสดใหม่ไปกว่าอาหารร้อนๆเสริฟตรงจากครัวอีกแล้ว ทั้งความสดและการจัดแต่งที่มาจากในครัว ส่งให้อาหารดูน่ากินมากกว่าอาหารที่กินไปแล้วหรือถูกทิ้งไว้จนแห้ง แต่บางครั้งถ้าเป็นอาหารที่มีไส้ก็อาจจะฉีกให้เห็นไส้ข้างในสักนิดก็เป็นความคิดที่ดีไม่น้อยเลยล่ะ
ไส้เยิ้มๆ แบบนี้ก็ดูน่ากินไม่น้อย
2. แสงธรรมชาติคือตัวเลือกที่ดีที่สุด
หลายคนเวลาถ่ายภาพอาหารจะเข้าใจว่าต้องใช้แฟลช ในกรณีที่เราไปเที่ยวนั้น ก็มีเพียงแฟลชหัวกล้องหรือแฟลชจากมือถือเท่านั้นที่จะสามารถใช้ได้ แต่…แต่!!! เจ้าแฟลชตัวนี้ล่ะครับที่จะทำลายความสวยของภาพเรา เพราะมันจะทำให้ภาพดูแบนและแสงแข็งมาก ดังนั้นพระเอกของเราก็คือแสงธรรมชาตินั่นเอง เริ่มต้นด้วยการมองหาโต๊ะที่ติดหน้าต่างหรือที่นั่งในสวน แต่ต้องไม่ไปอยู่กลางแสงแดดจ้าๆนะครับ ยิ่งถ้าเป็นบ้านเราที่แดดค่อนข้างแรงแล้วด้วย เพราะมันจะทำให้แสงแข็งมาก ให้วางจานอาหารบนโต๊ะในร่ม อาจจะเป็นชายคาร้านหรือใต้ร่มไม้ก็ได้ครับ มันจะช่วยกรองให้แสงและเงานุ่มลงได้อย่างดี ซึ่งร้านอาหารทุกวันนี้ก็เริ่มจะมองเห็นในจุดนี้จึงมีการจัดที่นั่งให้อยู่ใกล้หน้าต่างร้านอยู่แล้ว จึงหามุมแบบนี้ได้ไม่ยากนัก แต่ในกรณีที่ต้องใช้แฟลชจริงๆให้ยิงสะท้อนผนังหรือกำแพงก็สามารถทดแทนกันได้ครับ
การถ่ายใต้ร่มเงา จะช่วยให้แสงและเงานุ่มขึ้น
3. ทำให้เรียบง่ายเข้าไว้
ในการถ่ายภาพอาหารยังไงพระเอกของเราก็จะต้องเป็นอาหารจานหลักอยู่แล้ว ดังนั้นการจัดองค์ประกอบ ไม่ควรใส่อะไรอย่างอื่นเข้าไปเยอะเกินไปจนไปกลบความเด่นของอาหารจานหลัก อีกทางเลือกหนึ่งคือการเปิดรูรับแสงให้กว้างหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ถ่ายชัดตื้น” เพื่อขับให้จานหลักเด่นขึ้นมา และสุดท้ายอย่าลืมคิดถึงพื้นหลังด้วยล่ะ บ่อยครั้งโต๊ะไม้ก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่นิยมเลือกมาใช้เป็นพื้นหลัง
4. โฟกัสต้องแม่น!
หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายสำหรับการถ่ายภาพอาหารนอกสตูดิโอ คือการควบคุมโฟกัสให้ภาพคมชัดไม่เบลอหรือสั่นในเมื่องเราไม่ได้พกขาตั้งกล้องติดมาด้วย(หรือในบางร้านอาหารที่ห้ามใช้ขาตั้งกล้อง) เราจะต้องใช้การถือกล้องแทน แล้วทีนี้ก็จะมาขึ้นอยู่กับการควบคุมกล้องแล้วล่ะครับ โดยปกติถ้าจะต้องถือถ่ายผมจะแนะนำให้ตั้ง Speed Shutter ไม่ต่ำกว่า 1/60 -1/100 Sec และถ้ายังไม่ได้ Speed Shutter ที่เร็วพอ ก็จะต้องเพิ่ม ISO แทน ส่วนค่ารูรับแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้ภาพชัดตื้น ชัดลึกแค่ไหน ถ้าต้องการให้ภาพชัดก็เพิ่มค่า F แต่ถ้าต้องการให้ชัดตื้นก็ลดค่า F ให้ต่ำลง
การใช้รูรับแสงกว้าง จะช่วยให้อาหารจานหลักเด่นขึ้นมาอย่างมาก
5. อย่าลืมถ่ายเป็น RAW
การถ่ายภาพนอกสตูดิโอ สิ่งที่เราจะต้องระวังให้ดีคือเรื่องของสีเพี้ยน ซึ่งจะเกิดจากการสีที่สะท้อนมาจากกำแพง,ร่ม หรือโต๊ะ ภายในร้านอาหารนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราค่อนข้างจะควบคุมได้ยาก วิธีแก้ไขคือการถ่ายเป็นไฟล์ RAW แล้วไปปรับสีต่อใน Photoshop นั่นเอง แต่ข้อควรระวังคือ ไฟล์ RAW ขนาดค่อนข้างใหญ่ อย่าลืมเตรียมการ์ดไปเยอะๆนะครับ
6. ใส่ใจในการ Crop
การถ่ายภาพอาหารนั้น เราไม่จำเป็นที่จะต้องโชว์ทั้งจานเสมอไป ดังนั้นบางครั้งเราก็ไม่ต้องกลัวที่จะ Crop จานออกบ้าง หรือลองถ่ายเจาะให้เห็นรายละเอียดของอาหาร สี และวัตถุดิบก็เป็นไอเดียที่ดี ในช่วงแรกๆเราอาจจะถ่ายแบบเต็มจานแล้วไปลอง Crop ใน Photoshop ดูหลายๆแบบ เพื่อหาสไตล์การ Crop ที่เราชอบ หรือจะมีเลนส์ Marco ติดกระเป๋าไว้สักตัวก็ไม่เลวนะครับ
7. สร้างเรื่องราวให้กับอาหารจานเด่น
นอกจากการถ่ายอาหารแล้ว การถ่ายขั้นตอนการทำอาหารก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ภาพถ่ายของเราน่าสนใจขึ้นมาได้อีกเยอะ ดังนั้นถ้ามีโอกาสเราควรที่จะถ่ายภาพเชฟกำลังทำอาหารหรือกำลังใส่วัตถุดิบลงไปด้วย และเมื่อนำภาพมาโพสรวมกันก็จะช่วยขับให้ภาพชุดนี้ดูมีเรื่องราวมากยิ่งขึ้นแน่นอน
เห็นไหมครับ การถ่ายภาพอาหารที่สวยและน่าสนใจ ไม่ใช่แค่วางอาหารลงบนโต๊ะแล้วถ่าย การถ่ายอาหารที่ดีจะต้องอาศัยการวางแผนที่ดี การรู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งอาหารตรงหน้า ตำแหน่งที่จะวาง แสง สี การจัดองค์ประกอบ และที่สำคัญที่สุดคือการฝึกฝน และถ้าเราสามารถถ่ายภาพอาหารออกมาได้น่ากินแล้ว จะช่วยทำให้ภาพในทริปเที่ยวของเราดูน่าสนใจขึ้นอีกมาก
แล้วคุณล่ะครับ มีเทคนิคในการถ่ายอาหารอะไรบ้าง ลองมาพูดคุยกับพวกเรา Kaitom Studio ได้นะครับ บางครั้งเราก็อาจจะได้เทคนิคใหม่ๆไปลองใช้ดูบ้าง ขอให้มีความสุขกับการถ่ายรูปนะครับ แล้วพบกันใหม่นะครับ
food photography, ช่างภาพถ่ายอาหาร, บริการถ่ายภาพอาหาร ถ่ายอาหาร ถ่ายภาพอาหาร รับถ่ายอาหาร